วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

เนื่องจาก บุหรี่มีสารเสพติด และสารพิษหลายชนิดที่จะเข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ทั้งที่รักษาให้หายได้ และที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จนนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เรามาดูกันว่า การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

ผลต่ออวัยวะในร่างกาย
ผลต่อสมอง ... ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก หรือทำให้ก้อนเลือดอุดตันในเส้นเลือดได้
ผลต่อสายตา ... มีโอกาสที่ตาจะเป็นต้อกระจก จนถึงตาบอดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 50
ผลต่อผิวหนัง ... ทำให้ผิวหนังแห้ง แข็ง และเป็นรอยย่น หรือที่เรียกว่า แก่ก่อนวัย และมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนกวางได้มาก นอกจากนี้ ผิวหนังที่นิ้วก็จะไหม้เหลือง และมีคราบเหลืองที่เล็บ
ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ... ทำให้มีโอกาสเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ และมีโอกาสเป็นโรคลำไส้เรื้อรังด้วย
ผลต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ... จากสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด เช่น มะเร็งปาก มะเร็งลำคอ เป็นต้น
ผลต่อหัวใจ
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการหัวใจวาย จากโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบัน โรคนี้เป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิตเป็นอันดับสอง รองจากอุบัติเหตุ หากผู้สูบบุหรี่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่า และในคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวันขึ้นไป ยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดมากกว่าคนปกติ ที่น่ากลัวกว่านี้ คือ ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย จากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า

ควันบุหรี่ ทำให้หัวใจวายตายได้

ผลต่อปอด
นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลก ยืนยันแล้วว่า มะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ เป็นได้ทั้งผู้สูบ แลไม่ได้สูบ แต่ได้รับควันบุหรี่ และจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของไทย ยังพบว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดถูกพบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้ชายไทย โดยบุหรี่จะทำลายเซลล์ที่มีความสำคัญในการป้องกัน การเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกาย ดังนั้นในแต่ละวันที่มีการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ก็เหมือนกับการทำลายกลไกป้องกันมะเร็งปอดไปด้วย

ควันบุหรี่ ทำให้เกิดมะเร็งปอด

ผลต่อถุงลม
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง ซึ่งเป็นโรคของระบบทางเดินหายใจที่ทรมาน และรุนแรงมากที่สุด เพราะภายในปอดมีถุงลมเล็กๆ มากมาย ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ โดยขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางลมหายใจ แล้วนำก๊าซออกซิเจนเข้าสู่เลือด การสูบบุหรี่จะทำให้เยื่อบุหลอดลมหนาขึ้น หลอดลมตีบเล็กลง เป็นผลให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง ต้องออกแรงมากขึ้นในการหายใจ เยื่อบุและถุงลมขนาดใหญ่ จะไม่สามารถขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลา และทรมานไปจนกว่าจะเสียชีวิต เพราะไม่มีทางรักษาให้หายได้

สูบแล้ว ถุงลมพอง ตาย

http://thaidentistagainsttobacco.org/index.php?option=com_content&view=article&id=44:2009-03-03-14-51-24&catid=21&Itemid=9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น