วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก


พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง ประสูติ ณ กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 เป็นบุตรของพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการอาลักษณ์ กับท่านหยก ธิดาเศรษฐี เมื่อพระชนมายุได้ 12 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ครั้นมีพระชันษา 25 ปี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกได้ 1 ปี ท่านได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ในตำแหน่ง พระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกู้บ้านเมืองหลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่พระชนมายุได้ 32 พรรษา จนถึง 47 พรรษา ทรงกรำศึกสงครามมากมาย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2301 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปปราบเจ้าพิมาย พ.ศ. 2312 เป็นแม่ทัพไปตีเมืองกัมพูชา ตีได้เมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐ ด้วยความดีความชอบในการสงครามอย่างมากมาย ต่อมาใน พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยายมราชและเจ้าพระยาจักรี ตามลำดับ และยังเป็นแม่ทัพในการรบกับพม่าอีกหลายครั้งเริ่มตั้งแต่การตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า และได้เคยรบกับอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพคนสำคัญของพม่าที่เมืองพิษณุโลก จนถึงกับแม่ทัพพม่าขอเจรจาหยุดรบเพื่อขอดูตัว และได้กล่าวยกย่องสรรเสริญว่า “ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข็มแข็งอาจสู้รบกับเราผู้เฒ่าได้ จงอุตสาห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้” พระองค์ได้รับราชการในกรุงธนบุรีจนกระทั่งได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระมหากษัตริย์ศึก เพราะเหตุที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ประชาชนจึงขนานพระนามว่า “สมเด็จเจ้าพระยา”

ครั้นปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุง กล่าวคือ กรรมบันดาลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระอัธยาศัยผิดปกติไปจากพระองค์เดิม ก่อความเดือดร้อนให้แก่ปวงชนทั้งภิกษุและฆราวาส พระยาสวรรค์กับพวกจึงคิดการกบฏ ควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปขังไว้แล้วตนออกว่าราชการแทน จึงเกิดความกันระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายกบฏกับฝ่ายต่อต้านกบฏ ขณะนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการ ทัพอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ทราบข่าวการจลาจลจึงรีบยกทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ราษฎรเป็นจำนวนมากต่างพากันชื่นชมยินดี ออกไปต้อนรับ ต่างขอให้ช่วยปราบยุคเข็ญ ครั้นมาถึงพระราชวัง ข้าราชการ ทั้งปวงก็พากันอ่อนน้อมแล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบรมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี ทรงเป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามเดิมว่า นาค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้ง 42 พระองค์ และพระราชโอรสที่ประสูติในพระอัครมเหสี มี 9 พระองค์ ได้แก่

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินและพระราชมารดาในเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชติ
สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน 28 ปีเศษก็เสด็จ สวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. รวมพระชนมายุได้ 74 พรรษา




พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก



การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยทรงเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีราชภารกิจที่มากมายหลายประการในเวลาเดียวกัน และด้วยทรงตั้งปณิธานที่แน่วแน่ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภ์ภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี” ด้วยพระราชปณิธานอันนี้ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการป้องกันประเทศ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม สถาปนาราชธานีใหม่ สร้างพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น

โดยพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประการแรก ทรงโปรดเกล้าให้มีการสร้างราชธานีใหม่แทนกรุงธนบุรี การที่ทรงย้ายราชธานีใหม่มาอีกทางฟากหนึ่งของแม่น้ำนั้นทรงใช้หลักเหตุผลทางยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะทางฟากตะวันออกนั้น

แผ่นดินมีลักษณะเป็นหัวแหลมอีกทั้งยังมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นชัยภูมิรับศึกได้เป็นอย่างดี และไกลออกไปทางทิศตะวันออกก็เป็นที่ราบลุ่ม ดินอ่อนเป็นโคลนเลน เป็นด่านป้องกันข้าศึกได้เป็นอย่างดี ทำให้ข้าศึกที่ยกทัพเข้ามาถึงชานพระนครได้ยาก การสร้างใช้เวลา 3 ปี มีกำแพงเมืองและป้อมปราการมั่นคง เขตกำแพงพระนครนั้นมีอาณาเขตตั้งแต่ มุมพระนครด้านเหนือตรงปากคลองบางลำพู ริมป้อมพระสุเมรุ เสียบริมคลองคูพระนครมาทางตะวันออก จนถึงป้อมมหากาฬ ก็ตัดลงมาทางทิศใต้จนถึงตรงปากคลองโอ่งอ่างริมป้อมจักรเพชร จึงตัดกลับขึ้นไปทางทิศตะวันตกเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปจนถึงมุมกำแพงพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่อเข้ากับกำแพงพระบรมมหาราชวังบริเวณป้อมสัตบรรพต ยาวตลอดไปจนถึงป้อมอินทรังสรรค์ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (กำแพงช่วงนี้ใช้เป็นกำแพงร่วมกับกำแพงพระบรมราชวัง) แล้วจึงตัดกลับไปจนถึงป้อมพระจันทร์ ซึ่งเป็นป้อมมุมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้กำแพงพระนครช่วงนี้ อาศัยกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคลด้านตะวันตก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงป้อมพระอาทิตย์ มุมพระราชวังบวรสถานมงคลด้านทิศเหนือ จนถึงป้อมพระสุเมรุ บรรจบเข้ากับกำแพงพระนครเมื่อตนเริ่มต้น กำแพงพระนครนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีเชิงเทินข้างใน บนสันกำแพงสร้างใบเสมาสำหรับบังทางขึ้นเว้นระยะเสมอกันรอบพระนคร ใต้ฐานเสมาด้านนอกกำแพงถือปูนขึ้นทำลวดลายบังผ่าหวาน 2 ชิ้น ชักเป็นหน้ากระดาน ในพื้นกระดานนี้เจาะเป็นช่องกากบาทอยู่ตรงกลางช่อง ระหว่งใบเสมาทำเป็นช่องสอดปืนเล็กสำหรับใช้ยิงเมื่อคราวสงคราม เว้นระยะห่างเสมอกันตลอดแนวพระนคร (กำแพงพระนครที่ยังเหลือให้เห็นในปัจจุบันคือบริเวณริมคลองรอบพระนคร ตรงด้านหน้าวัดราชนัดดาราม และวังบวรนิเวศ) อีกทั้งโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคูเมืองทางทิศตะวันออก ที่เรียกว่า “คลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง” ในปัจจุบันพระองค์พยายามจัดผังเมืองให้มีความคล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สร้างวัดเป็นหลักของพระนคร คือ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมราชวัง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระเชตุพน ทั้งนีร้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนว่า ไทยเราได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่แล้วเหมือนในสมัยอยุธยา และทรงพระราฃทานนามราชธานีใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” รวมถึงการสร้างพระบรมรามหาราชวังขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2326 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2327 ทรงสร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียรสถานขึ้นมาในขั้นแรก ได้ แก่

1. พระราชมณเฑียรชั่วคราว โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับชั่วคราว พระราชมณเฑียรแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยไม้ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2326 ได้ก่อสร้างพระมหามณเฑียรสถานเพื่อประทับเป็นการถาวรเสร็จ จึงได้รื้อพระราชมณเฑียรชั่วคราวออกไป

2. พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นมาในพระบรมมหาราชวัง โดย พระที่นั่งองค์นี้ได้จำลองแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังได้ถูกสายฟ้าฟาดทำ ให้เกิดไฟไหม้เสียหาย หลังจากได้ใช้งานเพียง 5 ปีเท่านั้น

3. พระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งประกอบกันถึง 7 องค์ ได้แก่

1. พระที่นั่งจักรพรรดิมาน
2. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
3. พระที่นั่งอมมรินวินิจฉัยไหสูรยพิมาน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นท้องพระโรงมาจนถึงในปัจจุบัน
4. พระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้าย
5. หอพระสุราลัยพิมาน
6. หอพระธาตุมณเฑียร
7. พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
4. พระมหาปราสาท หมายถึง หมู่พระที่นั่ง ประกอบด้วยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัถยา และพระปรัศว์

5. พระที่นั่งพลับพลาสูง ในปัจจุบัน คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท

6. พระที่นั่งทอง เป็นพระที่นั่งขนาดย่อม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในสวนวนขวา สำหรับประพาสในพระบรมมหาราชวัง




ด้านการป้องกันประเทศ
พระองค์ทรงตรากตรำและทรงใช้สติปัญญา คามกล้าหาญเด็ดขาดตลอดพระชนม์ชีพในการทำสงครามป้องกันพระราชอาณาจักร ในรัชกาลของพระองค์มีการทำส งครามกับพม่า ถึง 7 ครั้ง โดย กองทัพไทยได้ยกไปตีเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดและเมืองทวาย ในเขตแดนของพม่าด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้มีการฟื้นตัวมีความเข็มแข็งมากพอแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวไทยเป็นอย่างมาก การสงครามที่ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพอย่างมากก็คือ ในตอนต้นรัชกาล คือ สงคราม 4 ทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญา ได้ปราบปรามหัวเมืองมอญและไทยใหญ่ได้ราบคาบ มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติด้วยการปราบปรามประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน กรีฑาทัพเข้าตีประเทศไทย แบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ รุกเข้ามาพร้อมกันถึง 5 เส้นทาง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทางด้านทิศเหนือพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองลำปาง และหัวเมืองทางด้านแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำยม อีกด้านเข้าตีหัวเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชรลงมา ทัพหลวงซี่งเป็นทัพที่ใหญ่ที่สุดเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเข้าตีพระนคร ทางด้านทิศใต้เข้ามาทางด่านบ้องตี้ตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เพื่อไปสมทบกับทัพเรือที่เข้ามาทางด่านเมืองมะริด

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีกำลังทหารเพียงครึ่งหนึ่งของกองทัพพม่า คือ เพียง 70,000 คนเศษ ได้ทรงใช้ยุทธวิธีใหม่ในการทำศึกสงครามครั้งนี้ โดยทรงยกทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ส่วนอีกทัพหนึ่งทรงให้ไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์และเมืองราชบุรี อีกด้านหนึ่งทรงส่งพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จไปตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัด คอยสกัดทัพจากพม่าไม่ให้ลงมาจากเขาได้ กองทัพพม่าจึงต้องหยุดตั้งค่ายที่เชิงเขา ทำให้ต้องรับเสบียงอาหารจากแนวหลังเพียงทางเดียว ทางกองทัพจึงจัดหน่วยกองโจรเข้าปล้นเอาเสบียง กองทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อเข้ารบพุ่งกันพม่าจึงพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะแล้วพระอนุชาธิราชจึงรีบยกทัพขึ้นไปช่วยทัพทางด้านอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้

ในปีต่อมาพม่าก็ยกทัพมาตีไทยอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า สงครามท่าอินแดงและสามสบ คราวนี้พม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เคยประสบมาเมื่อครั้งก่อนคราวนี้พม่าไดด้กรีฑาทัพผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์ 3 องค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดง และสามสบพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดงพร้อมกับทัพกรมพระราชวังบวรฯ ตีค่ายพม่าที่สามสบรบกันอยู่ 3 วัน ค่ายพม่าก็แต่ทุกค่าย กองทัพไทยไล่ตามติด ๆ ไปชนะค่ายพระมหาอุปราชาที่ลำแม่น้ำกษัตริย์อีกค่ายหนึ่ง กองทัพพม่าจึงพ่ายอย่างยับเยิน เสียผู้คน พาหนะเสบียงอาหารและศัสตราวุธเป็นอันมาก แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างแท้จริงในการสงครามและในรัชกาลนี้ได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลกองทัพพม่าจากล้านนา หัวเมืองภาคเหนือและราชอาณาเขตได้โดยเด็ดขาด ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ มีดินแดงไปถึงเมืองตรังกานู กลันตัน ไทรบุรี ปะริดและเประ



การชำระประมวลกฎหมาย
การชำระกฎหมายนี้สำคัญยิ่ง เพราะกฎหมายย่อมเป็นมาตรฐานในการกำหนดความสัมพันธ์ ของประชาชนในประเทศ ว่าแต่ละคนมีสิทธิ์และหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อตนเอง ผู้อื่นและประเทศชาติอย่างใดเพียงใด เหตุที่เสียกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่เป็นชิ้นดี พระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ จึงกระจัดกระจายฟั่นเฟื่อน ไม่สามารถยึดถือเป็นหลักยุตธรรมของบ้านเมืองได้ ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2347 จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและบริบูรณ์ และผ่านการวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ให้นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองต่อไป กฎหมายที่ทรงชำระนั้นได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยุติการใฃ้กฎหมายของรัชกาลที่ 1 ลง โดยได้ใช้ยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลาถึง 131 ปี




ด้านการปกครอง
การปกครองประเทศนั้น ทรงจัดแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ส่วนตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์นั้น คือ ตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และในส่วนข้าราชการนั้นมีอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ พระสมุหกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชการฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก มีหน้าที่ดูแลปกครองความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปในพระนคร

ส่วนตำแหน่งรองลงมาอีก 4 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์ ประกอบด้วย

เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง ใช้ตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปในราชอาณาจักร
เสนาบดีกรมวัง ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิกร (โค) เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่ง
เสนาบดีกรมพระคลัง ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ในการรับ-จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วนอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่า และการค้าขายที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ และกรมพระคลังต่าง ๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า
เสนาบดีกรมนา ใฃ้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชา เกี่ยวกับกิจการนาไร่ทั้งหมด



ด้านการบำรุงพระศาสนา
ได้ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างมากและเกิดผลต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ รวบรวมได้ 3 ลักษณะ

ประการที่ 1 ทรงชำระและสถาปนาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนจักรให้รุ่งเรืองต่อไป และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันการประพฤติของพระสงฆ์ไว้ อย่างเคร่งครัด

ประการที่ 2 ทรงชำระพระไตรปิฏกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นหลักในการศึกษาค้นคว้า

ประการที่ 3 มีพระราชศรัทธาก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอารามน้อยและใหญ่ไว้เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดสุทัศน์เทพวราราม

การทะนุบำรุงพระศาสนาข้อที่สำคัญที่สุด คือ การทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร ทรงพระนิพนธ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมทรงบรรยายร่วมกับการชำระพระไตรปิฎกไว้ดังนี้

การชำระพระศาสนาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ทรงเริ่มต้นด้วยการทำสังคายนาพระไตรปิฎกด้วยทุนรอนที่โปรดเกล้าฯ ให้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ต่อมาความปรากฏว่าพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระจากพระคัมภีร์ไม่ถูกต้อง มีความผิดเพี้ยนอยู่เป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระใหม่ในปีวอก พ.ศ. 2331 อันเป็นปีที่ ท 6 ในรัชกาล เป็นเวลาที่ว่างจากศึกสงคราม เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ผู้เขียนพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรมอันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน แต่บรรดามีฉบับไหนที่ใด ๆ เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ก็ใช้อักษรแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ ณ หอพระมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนทุก ๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา”

แต่ท่านจึงจหมื่นไวยวรนารถ กราบทูลว่า “พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้อักขระบท พยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่เดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงแต่งเติมดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมาได้” ครั้นทรงสดับจึงทรงปรารภว่า “พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกฉบับทุกวันนี้ เมื่อแลผิดเพี้ยวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนาและปฏิบัติศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนักสัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ ในอนาคตภายหน้า ควรจะทะนุบำรุงพระศาสนาไว้ให้ถาวรการเป็นประโยชน์แก่เทพยดาดมนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระโพธิญาณบารมี……….”

จึงทรงเรียกพระบรมวงศานุวงศ์ มีพระบาทสมเด็จพระบวรราชเจ้าในรัชกาลนั้น เป็นประธานในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท อารธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ฯลฯ 100 รูป มารับพระราชดำรัสให้จัดการทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุ) ซึ่งพระราชทางนามใหม่ในโอกาสนี้ว่า “วัดพระศรีสรรเพ็ชรดาราม” ทรงบริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่าย เกณฑ์พระราชวงศ์ข้าราชการทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้าให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ ซึ่งมาชำระพระไตรปิฎกทั้งเข้าเพลเวลา 436 สำรับ

เมื่อการทำสังคายนาเริ่มทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวณอิสริยยศสู่พระอุโบสถ การทำสังคายนากระทำโดยแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 กองคือ ชำระพระวินัย 1 พระสูตร 1 พระอภิธรรม 1 พระสัทธาวิเสส 1 แต่ละกองอยู่ห่างกันไปในบริเวณวัดนั้น ใช้เวลาทั้งหมด 5 เดือน จึงสำเร็จ ต่อมาพระราชทานพระราชทรัพย์จ้างช่างคฤหัสถ์และพระสงฆ์ สามเณรให้จารึกพระไตรปิฎกซึ่งชำระแล้วลงในใบลานเย็บเล่มเป็นคัมภีร์ มีปิดทองทับทั้งหน้าและหลัง และกรอบห่อด้วยผ้ายกเชือกรัด ถักด้วยไหมเบญจพรรณมีสลากงาและเป็นลวดลายเส้นหมึกและสลากทอ เรียกว่า ฉบับทอง เป็นอักษรบอกชื่อคัมภีร์เมื่อเสร็จแล้วทุกคัมภีร์ ทรงจัดงานฉลองสมโภชขึ้นเป็นมหกรรมพระไตรปิฎกหลวงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ส่วนทางด้านศาสนาสถานนั้น ในขั้นแรกทรงสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พร้อมกับการสถาปนาพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. ขึ้น เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ฟื้นฟูแล้ว เมื่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันติดปากว่า พระแก้วมรกต มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธมหามณีรัตนศาสดารามเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญมากของไทยเราปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรื่องราวของพระแก้วมรกตมีปรากฏมาแต่เดิมในตำนาน “รัตนพิมพวงศ์” ซึ่งแต่งเป็นภาษามคธ เล่าสืบกันมาว่า “พระแก้วมรกตนี้ เทวดาเป็นผู้สร้างถวายนาคเสนเถระ พระอรหันต์องค์หนึ่งที่เมืองปาฏลีบุตร พระนาคเสนผู้นี้มีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญาณได้อธิษฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต 7 แห่ง ๆ ละพระองค์ คือ พระเมาลี 1 พระนลาฏ 1 พระอังสาทั้ง 2 ข้าง และพระขานุทั้ง 2 ข้าง แล้วปิดเนื้อแก้วให้เป็นเนื้อเดียวกันดังเดิม”

พ.ศ. 2107 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่า ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจะศึกพม่ามอญไม่ได้ จึงย้ายพระราชธานีไปตั้งที่เมืองเวียงจันทร์ พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นมาด้วยและทรงประดิษฐานอยู่ที่นั้นเป็นเวลาถึง 214 ปี จนเมื่อไทยได้ทำสงครามกับกรุงศรีรัตนาคนหุต พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาไว้ยังกรุงธนบุรี

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นมาในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันจันทน์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2327 เป็นต้นมา




การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม



ด้านวรรณกรรม
การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นฟูในด้านอักษรศาสตร์เป็นสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นผู้พระราชนิพนธ์เองบ้าง กวีและผู้รู้เขียนขึ้นมาบ้าง ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสนพระทัยในงานด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ เป็นวรรณกรรมที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทย ด้วนจะเห็นเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่าง ๆ การแสดงโขน เป็นต้น รามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์รู้จักกันในชื่อว่า “รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 1”ทรงนิพนธ์ลงในสมุดปกดำแบบโบราณความยาวประมาณ 102 เล่มจบ มีคำประมาณ 195840 คำ ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีไทยที่มีความยาวเรื่องหนึ่ง(ในปัจจุบันทางคุรุสภาได้จัดพิมพ์ลงในหนังสือ 8 หน้ายก 4 เล่ม รวม 2,796 หน้า) โดยสำนวนโวหารในพระองค์ท่าน จะเป็นสำนวนแบบทหาร ถ้อยคำที่ใช้ก็ตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ อิเหนา ดาหลังและอุณรุท อีกทั้งยังทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องย่อย ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ นิราศท่าดินแดง ทรงพระราชนิพนธืขึ้นในขณะที่ทำสงคราม ณ สมรภูมิรบท่าดินแดง ด้วยในปี พ.ศ. 2329 ทรงทำสงคราม ณ สถานที่แห่งนั้น




ด้านสถาปัตยกรรม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูงานช่างขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยในเวลานั้นช่างฝีมือดีในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นจำนวนมากเมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตกเสียให้แก่พม่าข้าศึก ครั้นเมื่อได้รับอิสภาพช่างฝีมือก็เหลือน้อยเต็มที่ ทรงพระราชดำริให้ฟื้นฟูงานช่างประเภทต่าง ๆ เป็นต้นว่า งานช่างประดับมุก งานช่างเขียนลวดลายปิดทองรดน้ำ งานช่างเงินช่างทอง งานช่างไม้ งานช่างแกะสลัก เป็นต้น โดยทรงสนับสนุนให้ช่างที่ฝึกฝีมือเหล่านี้ได้มีโอภาสได้ทำงานช่างฝีมือต่าง ๆ เพื่อเป็นการฝึกฝีมือ เช่น ทรงโปรดให้ช่างเงินช่างทอง ทำเครื่องราชูปโภคตลอดจนเครื่องยศต่าง ๆ ที่พระราชทานให้แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นเรื่องช่างก่อสร้างทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัด พระราชวัง เป็นต้น การข่างประณีตศิลป์เหล่านี้ได้รับการพื้นฟูขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้เอง จนมีท่านผู้ใหญ่กล่าวว่า “ฝีมือช่างไทยเพิ่งมาดีขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นของหายากสิ่งใดที่พบเห็นในเวลานี้ บรรดาเป็นของช่างฝีมือดีในรัชกาลที่ 1 ทั้งสิ้น เช่น เครื่องราชูปโภค เป็นต้น หรือถ้าจะเลือกกล่าวแต่สิ่งของซึ่งคนทั้งหลายเห็นได้ด้วยกันโดยง่า ย เช่น งานประตูมุก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และงานมุกมณฑปพระพุทธบาทฝีมือเขียนฝาผนังพระอุโบสถ วัดราชบูรณะ เป็นต้น”




งานช่างประดับมุก
งานช่างประดับมุกที่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ การผูกลายยังคงได้รับอิทธิพลมากจากกรุงศรีอยุธยา โดยการผูกลายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลายก้านขอเครือนก มีรูปแกะสลักที่ปลายเถาในศูนย์แต่ละวง และในบางทีมีการแทรกลวดลาย กระบี่ อสูร อมนุษย์ และเทพยดาในบริเวณสันฐานกรม ช้อนขึ้นไปตามความสูงของบานประตู

งานช่างประดับมุกชิ้นสำคัญ ๆ นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายสถานที่ ได้แก่

1. งานช่างประดับมุกประตูพระมณฑปพระพุทธบาท ที่เมืองสระบุรี 4 คู่ เมื่อปี พ.ศ. 2329

2. งานช่างประดับมุกบานประตูพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 6 คู่

3. พระแท่นราชบัลลังก์ หรือพระแท่นเศวตฉัตร ประดิษฐานในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

4. พระแท่นราชบรรจถรณ์ ประดิษฐานในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

5. คู้พระสมุด 2 หลัง ในหอพระมณเฑียรธรรม

6. ตู้พระภูษา ในหอพระมณเฑียรธรรม

7. ตู้พระไตรปิฏก ในพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

8. บานประตูประดับมุก 4 คู่ ในพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม




[แก้ไข] งานเครื่องไม้จำหลัก
งานเครื่องไม้จำหลักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นับเป็นศิลปกรรมชิ้นสำคัญซึ่งสร้างขึ้นด้วยความคิดหลักแหลมของฝีมือช่างผู้ชำนาญ คือ

1. งานพระที่นั่งบุษบกมาลาจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระราชบัลลังก์บุษบกมีเกรินประกอบทางด้านข้างทั้งสองด้าน โครงสร้างส่วนหนึ่งทำด้วยไม้จำหลักลวดลายปิดทองปิดกระจก ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานก่อด้วยอิฐปั้นปูนเป็นลวดลาย ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัน

2. พระแท่นมหาเศวตฉัตร เป็นพระราชบัลลังก์สร้างขึ้นด้วยเครื่องไม้จำหลักลวดลาย มีรูปภาพประดับ 2 ชั้น ปิดทองประดิษฐานเหนือพระแท่นลา ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย พระแท่นองค์นี้มีลักษณะเด่นในทางการช่างไม้จำหลัก ตรงหน้ากระดานอุดร่องถุนในฐานชั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งแกะเป็นลวดลายกระหนกก้านขด ฟื้นโปร่ง กระบวนผูกลายตามแบบนิยมในสมัยอยุธยา

3. พระที่นั่งบุษบกมาลา สร้างขึ้นด้วยไม้จำหลักปิดทองติดกระจก ส่วนที่เป็นบุษบก สร้างบนฐานเชิงบาทซ้อน 3 ชั้น แต่ละฐานประกอบด้วยเกรินจำหลักลวดลายกระหนกทั้ง 2 ข้าง ลักษณะเด่นในงานชิ้นนี้อยู่ตรงความงามและฝีมือแกะ

4. พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชพาหนะขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้จำหลักตกแต่งลวดลายด้วยการปิดทองและติดกระจกมีความงามมาก

5. หย่องจำหลัก เป็นการจำหลักเพื่อตกแต่ง มีชิ้นที่สำคัญที่ควรยกย่อง คือ หย่องไม้จำหลักประจำพระบัญชรในพระราชวังบวรฯ เป็นงานไม้จำหลักที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในแต่ละช่องของพระบัญชรแตกต่างไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละช่อง กระบวนการในการผูกลายนั้นก็เป็นลวดลายที่สวยงามวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง และในหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นงานจำหลักที่มีความงดงามไม่แพ้กัน โดยใช้ช่างไม้ผูกลายเป็นตัวเหราอยู่ในพื้นลวดลายโปร่งที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละช่อง




งานเขียนปิดทองรดน้ำ
การเขียนภาพปิดทองรดน้ำที่เป็นงานช่างประติมากรรม ที่นับว่าเป็นงานชิ้นที่สำคัญที่ควรยกย่องคือ ฉากเขียนภาพปิดทองรดน้ำเรื่อง พระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งเขียนลงบนพื้นไม้กระดานเพลาะเข้าด้วยกันเป็นฉากขนาดใหญ่ สูง 2.2 เมตร ยาว 3.46 เมตร รูปภาพเขียนพรรณนาเรื่อง พระราชพิธีอินทราภิเษกตามเค้าที่มีมาตามกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า กระบวนการเขียนนั้นมีลักษณะที่มีพื้นเป็นสีดำ รูปภาพเป็นสีทอง วึ่งงานศิลปะประเภทนี้ได้รับอิทธิพลมาจากกรุงศรีอยุธยานั้นเอง



การถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช”



พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการสงคราม ศาสนา การปกครอง และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และทรงฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขุดลอกคูคลอง วัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่ และที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ การป้องกันประเทศ ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านสาขาต่าง ๆ ทั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่ และที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ การป้องกันประเทศ ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม งานช่างปิดทองรดน้ำ งานช่างประดับมุก งานช่างเขียน งานแกะสลัก เป็นต้น ด้วยทรงมีพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูประเทศขึ้นมาให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเท่าเทียมกับกรุงศรีอยุธยา ราชธานีเก่าซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก ต้องอาศัยทั้งพระปรีชาสามารถและทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากแต่ก็สามารถทำให้สำเร็จลงได้ ดังนั้นเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการชักชวนประชาชนชาวไทย ถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” ต่อท้ายพระนามาภิไธยด้วยประชาชนทั้งหลายนั้นได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในการที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นไทย






พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำริเห็นชอบว่าควรสร้างอนุสรณ์ขึ้นในเวลานั้น ให้เป็นระลึกถึงสืบไป เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปี จึงมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ซึ่งสร้างกรุงเทพมหานคร และควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อพระนครฯให้ติดกับเมืองธนบุรี เพื่อให้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแบบพระบรมรูป โดยมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของพระองค์จริง ส่วนแบบสะพานนั้น เป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 32.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้าสูงถึง 60 เมตร เพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก และพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น