วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ดาวเทียม

ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรในสาขาต่างๆ โดย นายแก้ว นวลฉวี และนางสิรินทร์ ช่วงโชติ

ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรได้เอื้ออำนวยประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ในการนำเอาข้อมูลไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นอาทิ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยได้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรในสาขาต่างๆ ดังนี้
ด้านป่าไม้
กรมป่าไม้ได้นำข้อมูลจากดาวเทียม ไปใช้ศึกษาพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศ และติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร การสำรวจหาพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรมทั่วทั้งประเทศ การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมศึกษาหาบริเวณพื้นที่ที่สมควรจะทำการปลูกสร้างสวนป่าทดแทนบริเวณป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถางทั่วประเทศ การศึกษาหาสภาพการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกระยะ ๓ ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมกันในระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น การร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และองค์การต่างประเทศ ทำการศึกษาและวิจัยงานด้านป่าไม้โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมอาจใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วยหรือทำการวิเคราะห์ด้วยสายตา หรือทั้งสองวิธีรวมกัน
ด้านการใช้ที่ดิน
ด้วยเหตุที่การใช้ที่ดินในประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดลักษณะการใช้ที่ดินว่าจะเป็นไปในลักษณะใด เช่น การทำเกษตรกรรม การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน หรือการสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลจากดาวเทียมจึงถูกนำมาใช้โดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน ตลอดจนการจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ที่ดินแต่ละประเภท การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ดำเนินกรรมวิธีการวิเคราะห์ทั้งสองแบบ คือการแปลด้วยสายตา และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ทำให้ได้ผลที่ดีและเป็นที่เชื่อถือได้ โครงการทางด้านการใช้ที่ดินที่ได้ทำไปแล้วมีหลายโครงการ ทำการศึกษาโดยหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม การประเมินการชะล้างพังทลายของดินบริเวณบางส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมSPOT และ LANDSAT เป็นต้น
ด้านการเกษตร
การใช้ข้อมูลดาวเทียมด้านการเกษตรส่วนใหญ่ใช้ศึกษาพื้นที่เพาะปลูก ความชื้นในดินการเปลี่ยนแปลงบริเวณเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจการประเมินความเสียหายจากศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์และมีความต่อเนื่องประกอบด้วย ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ คือ ดาวเทียม LANDSAT ระบบ TM ดาวเทียม SPOT และ MOS-๑ ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดสูง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมยิ่งขึ้น และเนื่องจากมีการถ่ายภาพซ้ำที่เดิมทุกๆ ๑๘ วันของดาวเทียม LANDSAT และทุกๆ ๑๖ วันของดาวเทียม SPOT ทำให้สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของภาพบริเวณเดียวกัน ซึ่งถ่ายภาพต่างวันและต่างฤดูกันได้
กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้นำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นาข้าวภาคกลาง ศึกษาหาผลิตผลของข้าวการสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทยการศึกษาความเป็นไปได้ของการประมาณพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันในบริเวณภาคใต้และการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพของการเกษตรโดยการแปลภาพจากดาวเทียม SPOT ด้วยสายตา



การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาสภาพป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ทำนากุ้ง




หัวข้อ

ด้านธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน
ด้านอุทกวิทยา
ด้านสมุทรศาสตร์
ด้านอุทกภัย
ด้านการทำแผนที่
สรุปย่อ
ด้านธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน

การนำข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาใช้งานในด้านนี้ จะมีลักษณะและวิธีการแตกต่างไปจากการแปลข้อมูลด้านอื่นๆ เช่นป่าไม้ การใช้ที่ดิน และเกษตรกรรม ซึ่งอาศัยแต่เพียงปัจจัยการแปลภาพพื้นฐานก็สามารถศึกษาข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่การแปลความหมายทางธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน จะอาศัยวิธีการอ่านข้อมูลที่เห็นได้โดยตรง เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางน้ำ ลักษณะการใช้ที่ดินตลอดจนองค์ประกอบในการแปลภาพรวมกันเข้า แล้วจึงจะแปลความหมายทางด้านธรณีสัณฐานและทางธรณีวิทยาอีกชั้นหนึ่ง ความสามารถของดาวเทียมในปัจจุบันนี้ มีคุณสมบัติในการเห็นภาพสามมิติ (ดาวเทียม SPOT) จึงทำให้สามารถศึกษาลักษณะภูมิประเทศได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจากดาวเทียมซึ่งมองเห็นบริเวณกว้างขวาง สามารถรวมเอาภาพทางธรณีสัณฐานขนาดใหญ่ไว้ในภาพเดียวกันได้
หน่วยงานหรือส่วนราชการต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมในการปฏิบัติงาน หรือการศึกษาวิจัย ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ทราบได้ว่าการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อการศึกษาลักษณะและโครงสร้างทางธรณีสัณฐานนั้นเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยพอสมควรทีเดียว
ภาพจากดาวเทียมแลนด์แซต ๕ แสดงลักษณะทางธรณีสัณฐานบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นลักษณะเนินเขาสลับที่ราบเห็นได้ชัดกว่าภาพถ่ายทางอากาศ




ด้านอุทกวิทยา

การศึกษาในด้านอุทกวิทยา อาจรวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับ "อุทกภาค" ซึ่งหมายถึงน้ำทั้งบนบก ในทะเล น้ำบนดินและใต้ผิวดิน ซึ่งรวมไปถึงแหล่งที่มา ปริมาณการไหลเวียนคุณภาพ และมลภาวะ เป็นต้น โดยเฉพาะแหล่งน้ำบนดิน ภาพถ่ายจากดาวเทียม จะสามารถมองเห็นแหล่งที่ตั้ง รูปร่าง และขนาด ได้เป็นอย่างดี ถ้าหากขนาดที่ปรากฏอยู่บนภาพดาวเทียมไม่เล็กจนเกินไป เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตั้งแต่ความยาวคลื่นประมาณ ๐.๗ ไมครอน ขึ้นไปได้เกือบหมดดังนั้นภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (๐.๗-๑.๐ ไมครอน) จะแสดงขอบเขตบริเวณที่เป็นน้ำบนผิวดินได้เด่นชัด และนำมาศึกษาขอบเขตน้ำผิวดินได้ดีกว่าช่วงคลื่นอื่นๆ
กรมชลประทาน
ได้มีการนำเอาข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในการวิจัยเรื่องการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เพื่อการชลประทานบริเวณพื้นที่ชลประทานของโครงการเกษตรชลประทานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามประเมินผลการส่งน้ำบริเวณโครงการฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาวางแผนด้านการจัดสรรน้ำ และการปรับปรุงระบบชลประทานที่ใช้งานอยู่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ได้วิจัยเรื่องการใช้ภาพดาวเทียมศึกษาการใช้น้ำและการบำรุงรักษาเขื่อน อ่างเก็บน้ำเพื่อหาทางนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้เป็นประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ในการศึกษาน้ำผิวดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อจุดประสงค์ในการนับจำนวนอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำของแต่ละอ่าง เพื่อใช้ในการวางแผนการบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งการวางแผนการจัดหาน้ำให้เพียงพอแก่ความต้องการตลอดทุกฤดูกาล




แผนที่แสดงน้ำผิวดินและการใช้ที่ดินโดยสังเขป โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม


ด้านสมุทรศาสตร์

การใช้ประโยชน์ของข้อมูลจากดาวเทียมในด้านสมุทรศาสตร์นั้น ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับตะกอนในทะเลและคุณภาพน้ำบริเวณชายฝั่งเช่น การศึกษาการแพร่กระจายตัวของตะกอนแขวนลอยบริเวณรอบเกาะภูเก็ต และการแพร่กระจายตัวของตะกอนในบริเวณปากแม่น้ำต่างๆของอ่าวไทยตอนบน เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยาบางปะกง และท่าจีน เป็นต้น ผลได้จากการศึกษานั้นมีมาก เช่น เป็นประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสมุทรศาสตร์ และการประมงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาดังกล่าวแล้ว


ลักษณะการเคลื่อนตัวของมลภาวะทางน้ำจำพวกตะกอนที่ออกสู่อ่าวไทยตอนบน ทางปากแม่น้ำแม่กลอง และท่าจีนสีน้ำเงินเข้มคือบริเวณที่น้ำลึกและใส สีฟ้าและฟ้าอ่อนคือ บริเวณน้ำตื้นและมีตะกอนแขวนลอย




ด้านอุทกภัย

อุบัติภัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่รู้ล่วงหน้าหรือไม่รู้ล่วงหน้าก็ตาม ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นย่อมมีขึ้นได้เสมอ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการเตรียมตัวอยู่เสมอนั่นเอง อุทกภัยที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีที่ผ่านมา ยังความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ทำให้มีการตื่นตัวกันในการที่จะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาศึกษาและสำรวจสภาพน้ำท่วม เพื่อให้ทราบถึงขอบเขตบริเวณน้ำท่วม ตลอดจนผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งจะกระจายเป็นบริเวณกว้างไปสู่บริเวณที่มีความลาดต่ำอยู่เสมอ การติดตามสำรวจการเปลี่ยนแปลงเป็นบริเวณกว้างในขณะที่น้ำท่วมนั้น จะเป็นการยากมากในการใช้เครื่องมือสำรวจและรังวัดอย่างธรรมดา การใช้เทคนิคการสำรวจจากระยะไกลในการสำรวจและบันทึกขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม สามารถทำได้และทำได้ดี ซึ่งจะทำให้เห็นบริเวณน้ำท่วมและสภาพน้ำท่วมอย่างเป็นขั้นตอน สามารถนำข้อมูลมาศึกษา เพื่อหาทางวางแผนและวางมาตรการในการป้องกันการเกิดน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะสามารถศึกษาความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อการฟื้นฟูบูรณะต่อไป การศึกษาเหล่านี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำเป็นตัวอย่างไปบ้างแล้ว



อุบัติภัยจากธรรมชาติที่ อ.พิปูน นครศรีธรรมราช เมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ เห็นร่องรอยแห่งอุบัติภัยเป็นแนวดินถล่มที่น้ำท่วมฉับพลันในแนวสีม่วงและสีน้ำตาล ภาพจากดาวเทียมทำให้สามารถตรวจสอบและบันทึกได้




ด้านการทำแผนที่

ข้อมูลภาพที่ได้รับจากดาวเทียมสามารถปกคลุมบริเวณกว้าง สามารถใช้ในการทำแผนที่และใช้แก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลจากดาวเทียม SPOT ซึ่งมีรายละเอียดภาพสูง และสามารถดูภาพสามมิติได้ คุณสมบัติที่เหมาะสมนี้ทำให้กรมแผนที่ทหารได้ทดลองใช้ภาพจากดาวเทียม SPOT แก้ไขแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ให้ทันสมัย ซึ่งได้ทำไปแล้วในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และแถบชายทะเล ตะวันออก และทราบว่าใช้ได้ดี และมีโครงการต่อไปอีกในหลายจังหวัด



สรุปย่อ

การนำเอาข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร มาใช้ในด้านการเกษตรนั้นเป็นเพียงการนำเอาขีดความสามารถส่วนหนึ่งมาใช้เท่านั้นดังได้กล่าวมาแล้วพอเป็นสังเขป จะเห็นว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายสาขา ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ ประเทศไทยได้นำข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร มาใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นเวลานานกว่า ๑๘ ปีแล้ว รัฐบาลได้ส่งเสริมกิจกรรมในด้านนี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนให้ตั้งสถานีรับสัญญาณจากดาวเทียม ซึ่งดำเนินงานโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้สามารถรับข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สำคัญได้ทุกดวง คือ LANDSAT,SPOT, MOS-๑ และกำลังเตรียมการในการรับสัญญาณจากดาวเทียม ERS-๑ จากยุโรปในไม่ช้านี้ ทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ต้องติดตามมาก็คือ การนำเอาข้อมูลที่รับได้จากดาวเทียมเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในสาขาต่างๆ ที่กล่าวแล้วเพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจและสังคมสืบต่อไป


http://guru.sanook.com/encyclopedia/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น