วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรคนิ่วไต

โรคนิ่วไต

โรคนิ่วไตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก และอุบัติการณ์โรคนิ่วไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์โรคนิ่วไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 10-16 การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วไตมีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง


สาเหตุของโรคนิ่วไตเกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมแทบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง ชนิดของนิ่วมีหลากหลายชนิด องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซี่ยมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซี่ยมแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซี่ยมฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือนิ่วกรดยูริกพบประมาณร้อยละ 10-20 สาเหตุเริ่มต้นของการเกิดนิ่วคือการก่อผลึกแร่ธาตุในปัสสาวะ สารที่กระตุ้นการก่อผลึกเหล่านี้เรียกว่า “สารก่อนิ่ว” ได้แก่ แคลเซี่ยม ออกซาเลต ฟอสเฟต และกรดยูริก สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว” ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม
ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วไตไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60


การรักษาโรคนิ่วไตแบ่งเป็นการรักษาทางศัลกรรม เช่น การผ่าตัดเอานิ่วออกและการสลายนิ่ว เป็นต้น และการรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำ เช่นยาโพแทสเซี่ยมซิเทรต นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตมีความสำคัญมากในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคนิ่วไต ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว


http://www.bmbmd.research.chula.ac.th/knrenal.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น