วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

วิธีป้องกันโรคกระดูด

วิธีป้องกันโรคกระดูก



หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ทำไมคนเราเมื่อมีอายุมากขึ้นถึงมีปัญหาเรื่องตัวเตี้ยลง หลังค่อม ขาโก่งงอ หรือกระดูกหักง่าย วันนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีคำตอบมาให้ค่ะ

สาเหตุของอาการดังกล่าว มาจากความขยันขันแข็งของเจ้า “กระดูก” นั่นเอง มันจึงไม่เคยหยุดพัก วันๆ เอาแต่สร้างเซลล์กระดูกใหม่และสลายเซลล์กระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เนื้อกระดูกส่วนที่หมดอายุถูกกำจัดออกไปเพื่อให้กระดูกที่สร้างใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กถึงวัยหนุ่มสาว อัตราการสร้างกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสลายกระดูก ทำให้กระดูกต่างๆ ในร่างกายของคุณแข็งแรงทนทาน ไม่ก่ออาการเจ็บป่วยง่ายๆ

แต่!!!เมื่อคุณย่างก้าวเข้าสู่วัยที่มีเลข 3 นำหน้าขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก ซึ่งเป็นผลทำให้ปริมาณมวลกระดูกลดลงและโครงสร้างภายในของกระดูกถูกทำลาย ทำให้รูพรุนที่คล้ายฟองน้ำของกระดูกชั้นในมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้กระดูกบางลงและอ่อนแอ จนเกิดภาวะ “กระดูกพรุน” ขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลอดชีวิตผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2 - 3 เท่า

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.ธนา ธุระเจน เลขาธิการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะความผิดปกติของกระดูกซึ่งทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงซึ่งโดยทั่วไปจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงไม่ได้ใส่ใจที่จะป้องกันและดูแลรักษาจนหลายครั้งเมื่อตรวจพบหรือเกิดอุบัติการณ์กระดูกหักก็มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแล้ว สำหรับในประเทศไทย ในปี 2552 พบว่ามีประชากรอายุมากกว่า 50 ปี ประมาณ 15 ล้านคน โดยประมาณ 15% ของประชากรผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือ 2.25 ล้านคนเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม คนที่ดื่มสุรา กาแฟ สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ต้องนอนบนเตียงคนป่วยเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวกระดูกหักง่าย นอกจากนี้ การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาเสตรียรอยด์ ยากันชัก ยาไทร็อกซิน ฯลฯ รวมทั้งคนที่เป็นโรครูมาตอยด์

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากเป็นพิเศษอีกด้วย

เมื่อกระดูกในร่างกายเริ่มบางลง จนเริ่มเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏเลยถ้ากระดูกไม่หัก ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติ แต่หากวันดีคืนดีเดินสะดุดก้อนหินหกล้ม หรือถูกคนวิ่งมาชน ภัยเงียบที่แอบแฝงในร่ายกายอย่างเจ้าโรคกระดูกพรุนก็จะสำแดงฤทธิ์เดชทำให้กระดูกหักได้ทันที โดยกระดูกบริเวณที่พบว่าหักบ่อย ได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสะโพกหักนั้นทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ ต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยไม่สามารถยกของที่มีน้ำหนักได้ตามปกติ รวมทั้งต้องเป็นภาระในการดูแลระยะยาวและอาจเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนั้นภาวะกระดูกพรุนยังส่งผลต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลังอีกด้วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเฉียบพลันและเรื้อรัง มีรูปร่างเปลี่ยนไป เตี้ยลง หลังโก่ง ไหล่งุ้มกว่าปกติ พุงยื่น หลังแอ่น ไม่มีเอว ฟันหลุดง่าย และการทำงานของอวัยวะภายในด้อยลง การย่อยอาหาร และการหายใจลำบาก เพิ่มความเสี่ยงกระดูกหัก ส่งผลให้อัตราตายสูงขึ้น

หากใครสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ก็สามารถไปตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยวิธีการเอกซเรย์ที่โรงพยาบาล เพื่อคำนวณหาความหนาแน่นของกระดูกเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานโดย
กระดูกปกติ จะค่าความหนาแน่นกระดูกมากกว่า -1 เมื่อเริ่มเป็นกระดูกบางจะมีค่าความหนาแน่นกระดูกน้อยกว่า -1 ถึงมากกว่า -2.5 หากเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุนจะมีค่าความหนาแน่นกระดูกน้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 และหากป่วยโรคกระดูกพรุนอย่างรุนแรง จะมีค่าความหนาแน่นกระดูกน้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 และมีกระดูกหักร่วมด้วย

โรคกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องป้องกันและรักษาโดยเร่งด่วน เพราะเมื่อกระดูกหักอันแรก ก็มักจะนำไปสู่กระดูกหักอันต่อไป…แต่การที่จะรักษากระดูกที่พรุนแล้วให้กลับเข้าสู่สภาพเดิมนั้นมักจะไม่ค่อยได้ผล ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ การดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนนั่นเอง...

โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ ถ้าเราให้ความสนใจดูแลรักษา โดยรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพราะร่างกายต้องการแร่ธาตุที่สำคัญเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร่างกายจึงควรได้รับสารอาหารต่างๆ ดังนี้...

แคลเซียม ในวัยผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรรับประทานแคลเซียมให้ได้ 1200 – 1500 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย เพราะร้อยละ 99 ของแคลเซียมจะอยู่ในกระดูก ที่เหลือจะกระจายอยู่ตามของเหลวต่างๆ ในร่างกาย หน้าที่ของแคลเซียมคือ ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง กล้ามเนื้อและประสาททำงานเป็นปกติ กระตุ้นการแข็งตัวของเลือดหลังการบาดเจ็บ และควบคุมการทำงานของ เอ็นไซม์และการเต้นของหัวใจ แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม คือ นม โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ปลาตัวเล็กที่รับประทานทั้งกระดูก และผักใบเขียวที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น

แมกนีเซียม พบมากในร่างกายเป็นอันดับสองรองจากแคลเซียม หน้าที่ของแมกนีเซียมคือ ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ผลิตพลังงาน สร้างโปรตีน และช่วยการหดตัวของกล้ามเนื้อ แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ถั่วต่างๆ ธัญพืช แป้ง และอาหารทะเล นอกจากนี้ร่างกายยังต้องการทองแดง แมงกานีส สังกะสี เข้ามาช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์ในกลไกการสร้างกระดูก และช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ยังควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการบริโภคชนิดอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น...“วิตามินดี”...ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะหากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญต่อกระดูกได้ เรียกได้ว่า การขาดวิตามินดีเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด "โรคกระดูกพรุน" เลยทีเดียวค่ะ...

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุน คือ การออกกำลังกายอย่างน้อย 15 - 20 นาที เป็นประจำทุกวัน ดังที่ สสส. ได้รณรงค์มาโดยตลอด เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงไม่แตกหักได้ง่าย

เมื่อรู้วิธีป้องกันแล้วอย่านิ่งเฉย เพราะการที่คุณเริ่มต้นบำรุงกระดูกได้เร็วเท่าใดก็จะทำให้คุณสะสมปริมาณมวลกระดูก ชะลออัตราการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งจะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนเมื่อสูงอายุขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง...



http://www.thaihealth.or.th/node/9105

1 ความคิดเห็น: